หลังจากยาออกฤทธ์พอลุกขึ้นมานั่งได้ (อาการหมอนรองกระดูกอักเสบ) แล้วมานั่งปรับแก้ Code ของ LoRa Gateway ที่เขียนในส่วนของ wan stack ขึ้นมาเอง เพราะเจอปัญหากรณีไฟดับ เนตหลุด แล้วติด loop reconnect ทำให้เกิดอาการค้าง ก็มาเพิ่มในส่วนของ watchdog ให้รองรับเหตุการณ์ที่ว่า
แต่เหมือนอารมณ์ค้างตั้งแต่เมื่อเช้าที่เข้าไปอ่านข่าวเกี่ยวกับระบบแจ้งเตือนสึนามิ DART (Deep-ocean Assessment and Reporting of Tsunami) ซึ่ง Up Link ของตัวทุ่นที่ลอยอยู่เหนือน้ำจะส่งข้อมูลผ่านดาวเทียม ซึ่งการแจ้งเตือนเหตุลักษณะนี้ต้องเป็นระบบที่เชื่อถือได้ และ fault alarm น้อย และแน่นอนว่าราคาของระบบนี้ต้องสูงอย่างแน่นอน
จากที่หาข้อมูลมา ราคาเริ่มต้นของ DART ในส่วนของตัวทุ่นเตือนภัยก็จะอยู่ที่ 250,000 USD หรือประมาณ 8.2 ล้านบาท และยังมีค่า MA รายปีอีก 50,000 USD หรือประมาณ 1.6 ล้านบาท และในการใช้งานจริงก็ต้องติดตั้งหลายทุ่น เพื่อวัดทิศทางของคลื่น ความเร็ว และรวมถึงระบบหลังบ้านในการประมวณผล ซึ่งก็ต้องมีอย่างน้อยๆ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 495 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลที่ได้มาก็ตั้งแต่ปี 2005 หรือสิบกว่าปีก่อน แต่ถามว่าราคานี้แพงมั้ยถ้าแลกกับการแจ้งเตือนแค่ครั้งเดียว แล้วสามารถลดความสูญเสียจากชีวิตของผู้ประสบภัยให้น้อยลง ผมว่าลงทุนเป็น 1,000 ล้านบาทก็น่าจะดูคุ้มค่ากว่าเรือดำน้ำราคาหมื่นล้าน
เวรละ!!! ตอนแรกว่าจะเขียนเรื่อง LoRa Mesh แต่เกริ่นเรื่องทุ่น DART ไปแล้ว ก็เลยหาข้อมูลมาเขียนเรื่อยๆ เหมือนจะเจอแจ๊คพอตซะงั้น
NDBC (https://www.ndbc.noaa.gov/) หรือ National Data Buoy Center คือหน่วยงานที่ดูแลและ monitor ข้อมูลที่ได้รับมาจากทุ่น DART ที่กระจายตัวอยู่ทั่วมหาสมุทรทั่วโลก เพื่อรวบรวมข้อมูลและประมวลผลการเกิดคลื่นสึนามิ ซึ่งถ้าเข้าไปในเวปของ NDBC แล้วก็จะสามารถที่จะเลือกดูข้อมูลจากทุ่นต่างๆที่ลอยตัวอยู่ตามที่ต่างๆได้
ก็จะเห็นว่าในไทยมีอยู่ทุ่นนึงเหมือนกัน แถวๆภูเก็ต แต่ว่าเป็นจุดสีแดงที่แสดงให้เห็นว่า สถานีที่ไม่ได้ส่งข้อมูลมาภายในระหว่าง 24 ชั่วโมงนี้ ก็ลองคลิกเข้าไปดูซิ
!!!หรือระบบเตือนสึนามิของประเทศไทยจะมีปัญหาจริงๆ !!! เมื่อกดเข้าไปดูข้อมูลย้อนหลัง ก็จะมีตั้งแต่ปี 2017 ระหว่างช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือน ตุลาคม วันที่ 18 แค่นั้น หลังจากนั้นการอ่านข้อมูลจากทุ่น หรือการส่งข้อมูลน่าจะมีปัญหาละ เพราะค่าเป็น 9999 ตลอด ซึ่งข้อมูลของเจ้าทุ่น DART หมายเลข 23461 จากเวป NDBC ก็ระบุว่าดูแลโดย Department of Disaster Prevention and Mitigation, Ministry of the Interior, Thailand หรือชื่อไทยอย่างเป็นทางการก็คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาไทย นั่นเอง งานนี้ก็ไม่รู้ว่าข้อมูลทาง NDBC มั่ว หรือทุ่นลอยน้ำเพื่อตรวจจับคลื่นสึนามิ ในส่วนของฝั่งอันดามันมีปัญหากันแน่ แต่ลองคลิกเข้าไปดูทุ่นทางฝั่งของญี่ปุ่น ก็ยังมีข้อมูลและสามารถเข้าไปดูข้อมูลย้อนหลังได้ถึงปี 2007 ด้วย
คืนนี้แทนที่จะเขียนเรื่อง LoRa Mesh Network เลยกลายมาเป็นเรื่องทุ่นเตือนภัยสึนามิของประเทศไทย ที่ทำให้ผมเองสงสัยเหมือนที่เค้าคอมเม้นท์กันในหัวข้อข่าวว่าจริงๆแล้วเจ้าทุ่นนี้ยังสามารถทำงานได้ดี และระบบเตือนภัยสึนามิของประเทศไทยนั้นยังทำงานได้ปกติหรือไม่ ว่าแล้วก็ขอตัวไปนอนดีกว่า T_T
ข้อมูลเพิ่มเติม
[FoxNews: Tsunami Alert System Would Cost $20M]
[NDBC: Station 23461 – ANDAMAN SEA – 180 NM NW of Phuket, Thailand]