Enterprise Architecture : สถาปัตยกรรมองค์กร

นึกถึงสมัยตอนเอ็นทรานซ์เมื่อปี 39 ซึ่งแลดูจะเป็นระบบที่เข้าใจง่ายกว่า TCAS ในสมัยนี้ ผ่านมาจากตอนนั้นก็ 22 ปีแล้ว นี่เรามีรุ่นน้องวิศวะฯมหิดลต่อจากรุ่น 7 อีก 22 รุ่นแล้วเหรอเนี่ย เวลาช่างผ่านไปเร็วมาก เพราะนี่ก็เพิ่ง defend สาระนิพนธื ป.โท อีกใบไป และแน่นอนว่าก็ได้กลับมาเป็นศิษย์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลอีกรอบ กับหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วศ.ม.) สาขาวิชาสถาปัตยกรรมการจัดการองค์กร

เวลาใครถามเรียนคณะอะไร สาขาอะไร เมื่อต่อท้ายจากคณะวิศวะแล้วตามด้วยชื่อสาขาที่มีชื่อว่า Enterprise Architecture หรือ สถาปัตยกรรมองค์กร ปฎิกริยาที่เห็นได้ทันทีนั่นก็คือมีเครื่องหมายคำถามปรากฎขึ้นบนใบหน้า สาขาอะไรเนี่ย เรียนเกี่ยวกับอะไร เรียนแล้วได้ใช้ประโยชน์มั้ย วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังในฐานะที่ใกล้จบหลักสูตรนี้และอยากมีรุ่นน้องเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

Enterprise Architecture หรือสถาปัตยกรรมองค์กรคืออะไร ถ้าเปรียบเทียบเป็นการสร้างบ้านหรือคอนโดซักหลังนึง สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างนั่นก็คือพิมพ์เขียวหรือ Blueprint ที่ออกแบบโดยสถาปนิก (Architect) เพื่อใช้เป็นแนวในการสร้าง รวมถึงกำกับการสร้างให้ถูกต้องเหมาะสม ด้วย resource ที่วางแผนเอาไว้ องค์กรหรือ Enterprise ก็เหมือนกันการจะบรรลุเป้าหมายตาม Vision หรือ Mission ที่วางเอาไว้ ถ้าเรามีพิมพ์เขียวขององค์กร การที่ดำเนินการเพื่อที่จะบรรลุตามเป้าประสงค์ต่างๆนั้นก็จะง่ายและเป็นระบบขึ้น ซึ่ง Enterprise Architecture (EA) นี้แหละก็คือ Blueprint หรือพิมพ์เขียวขององค์กรนั่นเอง

นอกเหนือจากที่ EA จะเป็นพิมพ์เขียวให้กับองค์กรแล้ว ข้อสำคัญอย่างหนึ่งนั่นก็คือการนำเอา IT กับ Business เข้ามาอยู่ในการวางแผนด้วย เพราะในยุคปัจจุบันนี้เราคงหนีการใช้ IT ไปไม่พ้นแน่ๆ ซึ่งในการวิเคราะห์ในการทำ EA นั้นโดยหลักๆก็จะวิเคราะห์ออกเป็น 4 Domain ด้วยกันนั่นก็คือ Business, Data, Application และ Technology เหมือนรูปด้านบน โดยแบ่งออกเป็น 4 layer ที่สัมพันธ์กัน เมื่อทำการวิเคราะห์ตามหลักการของ EA แล้วจะทำให้อะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น เราจะรู้ว่า เมื่อเครื่อง Server เครื่องใดเครื่องหนึ่งล่มไป เครื่องนั้นจะกระทบกับ Application อะไรบ้าง Application อะไรบ้างที่เชื่อมต่อกันอยู่ มีข้อมูลหรือ Data ตัวไหนที่จะหายไป หรือส่งผลกระทบกับธุรกิจส่วนไหนบ้าง

ซึ่งการวิเคราะห์เพื่อทำ EA นั้นก็จะแบ่ง State ของการวิเคราะห์ออกเป็นวิเคราะห์สถาณการณ์ปัจจุบันขององค์กร บางท่านอาจจะเรียกว่า As-is หรือ Baseline โดยจะเป็นการวิเคราะห์ 4 Domain ด้านบนนี้แหละครับ เพื่อดูความสัมพันธ์ เขียนมันออกมา แล้วก็มาดูว่าปลายทางขององค์กรเรา อีก 5 ปีหรือ 10 ปีนั้นเป็นยังไงใน 4 มุมมองของ EA ก็จะได้ future state หรือ target ขึ้นมา เมื่อมีต้นทาง มีปลายทางเราก็รู้แล้วว่า ช่องว่างหรือ Gap ระหว่างสองสถานะนี้เราะจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อเปลี่ยนสถานะจาก baseline –> target ในทุกๆ Domain ซึ่งที่ผมเขียนอธิบายมานี้ก็จะเป็นหลักการคร่าวๆ เพื่อให้เห็นมุมมองของการทำ EA

ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้ สำหรับคนที่อยู่ในสายธุรกิจ ก็คงคุ้นๆว่าเห้ยยย มันเหมือน Business Plan ที่ช่วงใกล้สิ้นปีต้องทำส่งผู้บริหารเพื่อขออนุมัติงบที่จะใช้ลงทุนสำหรับ บลาาา บลาาา บลาาา เพื่อให้บริษัท/แผนกใช้ในการ บลาาาา บลาาาา และจะส่งผลให้ธุรกิจมี “กำไร” บลาาา บลาาา ใช่ครับ Business Plan ก็คือแผนที่ถ้าเราทำ ก็จะเป็นการเปลี่ยนสถานะจากจุดที่เป็นอยู่ ไปยังจุดที่เราอยากให้องค์กรเป็น เพียงแต่ EA มันเป็นมากกว่า Business Plan เพราะมันเป็นการวางแผนอย่างยั่งยืนสำหรับองค์กร และเห็นรายละเอียดชนิดที่ว่า ถ้าเปรียบเทียบเป็นการสร้างตึกถ้าเสาเข็มต้นนึงไม่ได้มาตรฐานจะกระทบกับโครงสร้างของตึกยังไงบ้าง EA สำหรับองค์กรก็เช่นกันพิมพ์เขียวตัวนี้จะแสดงให้เห็นในมุมของ domain ต่างๆที่สัมพันธ์กันเพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายตามที่วางแผนไว้ (Target Architecture)

เข้าสู่ช่วงโฆษณากันดีกว่า ซึ่งถ้าใครได้มาเรียนหลักสูตรนี้ ผมรับรองว่าสนุกแน่นอนครับเพราะในมุมของแต่ละ Domain นั้นก็แยกเป็นแต่ละ Architecture และเป็นแต่ละรายวิชาเลยทั้ง Business Architecture, Information & Application Architecture และ Technology Architecture ยังไม่รวมถึงวิชาอื่นๆที่จะช่วยเพิ่มความรู้ให้กับผู้เรียนอย่างเช่น Project Management, Telecommunication Management, Computer System & Network Security และวิชา Convergence Communications นอกจากเนื้อหาการเรียนที่น่าสนใจแล้ว หลักสูตรนี้ยังมีทุนอีกเพียบ รวมถึงได้ไปดูงานที่ต่างประเทศด้วย และในบางคาบก็จะมีวิทยากรรับเชิญมาบรรยายเสริมในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกันอีก ได้เจอเพื่อนๆจากหลากลายสาขาอาชีพ รวมถึงผู้บริหารจากหลากหลายองค์กร ที่จะช่วยให้เราได้แลกเปลี่ยนมุมมองในด้านต่างๆที่น่าสนใจ

หลักสูตรนี้เหมาะกับใคร ถ้าคนที่มีพื้นทางด้าน IT และผ่านการทำงานในสายบริหารมาถือว่า Perfect เวลาเรียนจะต่อยอดได้สนุกมาก แต่ถ้าใครไม่ได้มาทางสาย IT หรือสายบริหารธุรกิจมา ก็สามารถมาเรียนได้แต่อาจจะต้องขยันกว่าเพื่อนนิสนึง ฉะนั้นสมัครเถอะครับ หลักสูตรดีขนาดนี้ รับรองว่ามันจะมีประโยชน์ในการทำงานเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเพื่อเอาไปใช้วางแผนในระดับ strategic planning ขององค์กร หรืออย่างน้อยก็ฝึกเพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมในการก้าวไปสู่ผู้บริหารขององค์กร และที่สำคัญมาเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องภายใต้รั้วของมหาวิทยาลัยมหิดลด้วยกันกับผมเถอะครับ 😀

ข้อมูลเพิ่มเติม : [EGEA Mahidol University]

Author: Joe D.S.
Just a man on earth

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.