ก่อนหน้านี้ที่เขียนเรื่อง Ghost mode EP1: 1.1.1.1 มีประโยคนึงที่เขียนเอาไว้ว่า “ของฟรีไม่มีในโลก เนื่องจากเรานั้นไม่ได้เป็นลูกค้า หรือผู้ใช้จริงๆของบริการเหล่านั้น เรานั่นแหละที่เป็นสินค้า” ซึ่งแน่นอนของฟรีหรือบริการฟรี ที่เรามักคิดถึงก็เช่น Line Messenger, Facebook, Instagram หรือแม้แต่ YouTube ที่เรา “เหมือนจะ” ใช้บริการเหล่านี้ได้ฟรี ไม่ต้องเสียเงินซักบาท ก็สามารถติดตามข่าวสาร ส่งข้อความหาเพื่อน หรือแม้แต่ดูรูปสวยๆ ที่เราพร้อมจะ โพสต์ ไลค์ เม้นท์ และแชร์ต่อไปให้คนอื่นๆได้เสพกัน โดยที่เราๆท่านๆ ไม่ต้องเสียตังค์สักบาท
“You’re Not the Customer; You’re the Product”
‘if you’re not paying for the product, you are the product’?
จริงๆคำเหล่านี้มีมาตั้งแต่สมัยปี ค.ศ. 1973 แล้วเมื่อ Richard Serra กับ Carlota Fay ได้ทำ วีดีโอสั้นเรื่อง Television Delivers Peoples ความยาวประมาณ 6 นาทีขึ้นมาซึ่งเป็นวีดีโอง่ายๆที่มีตัวอักษรไล่ขึ้นไปเหมือนท้ายเครดิตหนัง โดยมีใจความที่น่าสนใจดังนี้
Commercial television delivers 20 million people a minute.
It is the consumer who is consumed.
You are the product of t.v.
You are delivered to the advertiser who is the customer. He consumes you.
The viewer is not responsible for programming——
You are the end product.
ใครสนใจดูคลิป ตามลิงค์นี้ไปได้เลยครับ https://www.youtube.com/watch?v=nbvzbj4Nhtk
ซึ่งก็ชัดเจนและเป็นจริงอย่างที่เราทราบๆกัน ว่าบริการฟรีทีวีที่เราดูกันอยู่ทุกวันนี้ ที่เหมือนจะฟรี ไม่ว่าจะช่องหลากสี ช่องตัวเลข หรือเกมส์โชว์ต่างๆ รายได้ของช่องนั้นมักจะมาจากโฆษณาเป็นหลัก และแน่นอนว่าราคาของค่าโฆษณาก็จะแพงตามเรตติ้งของช่อง นั่นก็คือเรตติ้งยิ่งสูง จำนวนคนดูก็มากขึ้น และตัวเรตติ้งที่มาจากการดูนี่แหละที่จะเป็นตัวถูกนำไปขายให้กับ Ads Agency ต่างๆเพื่อมาลงโฆษณา ก็เปรียบเสมือนเราเป็นสินค้าที่ถูกขายให้กับ Ads Agency ที่เป็นลูกค้าตัวจริงของช่องทีวี หรือรายการทีวีนั้นๆ
พอมาถึงยุคปัจจุบันที่ Data is the new Oil หรือขุมทรัพย์แห่งใหม่ เราสามารถใช้บริการต่างๆมากมาย ที่เหมือนจะฟรีอย่างที่เกริ่นไปในตอนต้น แต่ลองคิดดีๆว่าบริการเหล่านั้นมันฟรีจริงๆเหรอ ทำไมบางครั้งเราจึงรู้สึกว่าโฆษณาต่างๆนั้นช่างแสดงขึ้นมาได้เหมือนนั่งอยู่เข้าไปในใจของเรา ลองดู Term of Service ของ Line และ Facebook ดู ก็จะเข้าใจว่าเรานั่นแหละที่เป็น end product
ซึ่งข้อมูลต่างๆเหล่านี้ก็มาจากการที่โปรแกรมที่เราติดตั้งนั้นคอยดู หรือติดตามสิ่งที่เราใช้งาน คำพูดที่เราพิมพ์ emoji ที่เราส่งไปหาเพื่อน ทุกรูปที่เราหยุดดู กดไลค์ หรือแม้แต่เลื่อนผ่าน ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งกลับไป Analyze และ end product อย่างเราก็จะถูกขายไปให้ยัง Ads Agency หรือคนที่ต้องการลงโฆษณาในการทำ Target Advertising
ถามว่าการใช้บริการฟรีเหล่านี้ แลกกับการยอมให้ข้อมูลถูกส่งกลับคืนไปยังให้ผู้บริการ “ผิดมั้ย” ผมว่าก็ไม่ผิดซะทีเดียว บางครั้งโฆษณาที่ขึ้นมาก็ต้องบอกว่า เจ้าโปรแกรมหรือบริการพวกนี้รู้ใจเรายิ่งกว่าเรารู้ใจตัวเองด้วยซ้ำ แต่ที่ผมรู้สึกว่าอาจจะไม่ค่อยแฟร์ (แต่ก็นะเราใช้บริการของเค้าฟรีหนิ) นั่นก็คือ ข้อมูลอะไรบ้างที่ส่งกลับไป และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้อมูลที่ส่งกลับไปนั้นถูกควบคุม หรือกำกับดูแลอย่างถูกต้อง นั่นคือสิ่งที่เราควรกังวลมากกว่า